• สิบสองปันนา หรือเมืองเชียงรุ้ง ดินแดนที่นักเดินทางหลายคนใฝ่ฝันจะได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัสดินแดนที่เป็นเสมือนเมืองในตำนาน หรือดินแดนในฝันที่ใครต่อใครจะต้องไปเยือนสักครั้ง ชื่อเสียงของเขตการปกครองตนเองสิบสองปันนาที่ตั้งอยู่ตอนใต้สุดของมณฑลยูนหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน แห่งนี้ เริ่มถูกกล่าวขวัญกันมากขึ้น ตั้งแต่หลังสงครามเย็นระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีสงบลง พร้อมกับการสิ้นสุดของยุคสมัยแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมในประเทศจีน ราวปี พ.ศ.2519 ระบบคอมมูนที่เข้มงวดเริ่มผ่อนคลายลง รัฐบาลจีนเริ่มผ่อนปรนให้ผู้คนในสิบสองปันนาดำเนินชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมของตนมากขึ้น สามารถประกอบกิจกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม อนุญาตให้ผู้คนมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง สามารถดำเนินธุรกิจและเดินทางไปมาค้าขายกันได้ ดินแดนสิบสองปันนาก็เปิดตัวเองสู่โลกภายนอกอีกครั้ง
• การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างคนไทกับสิบสองปันนา ดินแดนที่เป็นเสมือนเมืองหลวงหรือศูนย์กลางแห่งชาวไทลื้อก็เริ่มขึ้นอย่างคึกคัก เสมือนเป็นการโหยหาสายสัมพันธ์ของญาติมิตรที่ขาดวิ่นมายาวนาน ระหว่างคนไทร่วมเชื้อสายที่มีรากฐานบรรพบุรุษ รากฐานภาษา และวัฒนธรรมเดียวกัน และสิบสองปันนาในยามนั้นก็ยังเป็นเสมือนดินแดนที่ยังคงมีวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทลื้ออย่างสมบูรณ์ยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรือนหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินทรงปีกนกที่เรียกว่า หงส์เฮือน หรือ เรือนหงส์ ซึ่งสร้างแบบบ้านใต้ถุนสูงหลังคาลาดต่ำลงมาราวปีกหงส์ เรียงรายกันเป็นระเบียบ การแต่งกายของหญิงสาวชาวไทลื้อด้วยเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสสวยงาม การดำเนินวิถีชีวิตด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม วิถีชีวิตที่ยังคงผูกพันมั่นคงในพระพุทธศาสนา และภาษาพูดที่คนไทยบ้านเรากับสิบสองปันนาแม้จะอยู่คนละประเทศก็สามารถพูดจากันรู้เรื่องด้วยรากฐานภาษาเดียวกัน นั่นจึงทำให้สิบสองปันนากลายเป็นดินแดนที่นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ นักมนุษยวิทยา นักบวช นักการศาสนา แม้กระทั่งชาวไทลื้อและชาวล้านนา หรือนักเดินทางธรรมดาทั่วไป ต่างก็ให้ความสนใจที่จะเดินทางไปเยือนดินแดนในฝัน สิบสองปันนาแห่งนี้กันอย่างตลอดเรื่อยมา
• ไทลื้อเป็นหนึ่งในกลุ่มชนชาติ ไท หรือ ไต ชนชาติที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาช้านานในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออุษาคเนย์ เป็นชนชาติที่มีภาษาวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีความสามารถทางการเพาะปลูกและการเกษตรกรรมเก่าแก่ไม่แพ้ชนชาติใดในโลกเลย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า ชาวไทลื้อดำรงชนชาติมานานกว่า 2,000 ปี อาณาจักรที่เป็นศูนย์กลางของชาวไทลื้อนั้นสถาปนาขึ้นเมื่อราว 800 ปีก่อน ตามหลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า ขุนเจือง หรือ พญาเจือง ได้รวบรวมชาวไทลื้อกลุ่มเล็กๆให้เป็นปึกแผ่นและสถาปนาอาณาจักร หอคำเชียงรุ่ง ขึ้นบริเวณเมืองเชียงรุ่งเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาแห่งนี้ในปี พ.ศ.1723 โดยประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นอยู่กับอาณาจักรตาลีฟูของจีน และครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์แรก มีพระนามว่า สมเด็จพระเป็นเจ้าหอคำเชียงรุ่งองค์ที่ 1
• ชื่อเชียงรุ้ง มาจากเรื่องราวในพุทธตำนานของชาวไทลื้อที่ว่า เมื่อครั้งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์ถึงยังดินแดนริมฝั่งโขงของชาวไทลื้อแห่งนี้ ก็เป็นเวลาเช้าพอดี จึงเรียกดินแดนแห่งนี้ว่า เชียงรุ่ง อันเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองสืบไปในอนาคต ดินแดนริมแม่น้ำโขงจึงถึงเรียกว่า เชียงรุ่ง สืบมา
• อาณาจักรหอคำเชียงรุ้ง หรืออาณาจักรเชียงรุ้ง ก่อร่างเป็นปึกแผ่นแน่นหนา ทั้งยังขยายอิทธิพลไปตีเมืองใกล้เคียงอย่างเชียงตุงของชาวไทยขึน เมืองบางส่วนของชาวล้านช้าง เลยไปถึงเมืองแถงหรือเดียนเบียนฟูของชาวไทดำมาไว้ในครอบครอง อาณาจักรเชียงรุ่งได้สร้างความเป็นปึกแผ่นสั่งสมวัฒนธรรมประเพรีตามวิถีชีวิตของตนบนที่ราบเนินเขาลุ่มแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์ มีการจัดระบบการปกครองหัวเมืองของตนเองตามวิถีชุมชนที่ผูกพันกับการเกษตร โดยแบ่งเขตการปกครองเป็น 12 พันนา หรือ 12 เขตการปกครอง โดยแต่ละพันนาจะมีเมืองเล็กๆ รวมกันอยู่ มีเมืองใหญ่ในพันนานั้นๆ เป็นศูนย์กลางคอยควบคุมดูแลอีกที การแบ่งเช่นนี้ก็เพื่อความสะดวกในการปกครองและการเก็บส่วยอากร เก็บเครื่องบรรณาการส่งไปยังเชียงรุ่งซึ่งเป็นเมืองหลวง
• ชาวไทลื้อออกเสียง พ.พาน เป็นเสียง ป.ปลา จึงออกเสียงหัวเมืองทั้งหมดที่มีสิบสองพันนาเป็นสิบสองปันนา ระบบการปกครองแบบพันนานี้ก็เริ่มขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอินทร์เมืองรัชกาลที่ 21แห่งอาณาจักรหอคำเชียงรุ่ง ในราวปี พ.ศ.2115 ซึ่งมีเมืองต่างๆ กระจายกันอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง ตามคำเรียกขานอย่างคล้องจองของชาวไทลื้อที่ว่า 5 เมิงตะวันตก 6 เมิงตะวันออก อันหมายถึงเมืองหรือพันนาทางฝั่งตะวันตกของของแม่น้ำโขงนั้นมี 5 เมือง และฝั่งตะวันออกอีก 6 เมือง รวมกับเชียงรุ่งซึ่งเป็นศูนย์กลางอีก 1 เมือง เป็น 12 เมืองใหญ่ หรือ 12 พันนา
• ความจริงการแบ่งเขตการปกครองด้วยระบบพันนานี้ นิยมใช้กันในภูมิภาคแถบนี้มาจนถึงดินแดนล้านนา ซึ่งอาณาจักรล้านนานั้นก็มีหลักฐานการแบ่งเขตการปกครองเป็นระบบพันนาด้วยเช่นกัน โดยจะเห็นได้จากหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซึ่งกล่าวถึงเขตแดนของเมืองเชียงแสนที่สร้างบริเวณเมืองเงินยางเดิมโดยพญาแสนภู พระราชนัดดาของพญามังราย เมื่อปี พ.ศ. 1871 ตอนหนึ่งว่า ดังมักแคว้นเขตแดนเมืองเชียงแสนทั้งมวลมี 32 พันนาและจะเห็นได้ว่าการแบ่งเขตการปกครองแบบพันนาได้ถูกนำมาใช้ในดินแดนล้านนาด้วยเช่นกัน เพียงแต่การแบ่งพันนาของล้านนานั้น แต่ละพันนาจะเป็นเพียงหน่วยการปกครองย่อยๆ เมืองหนึ่งอาจมีหลายพันนา เช่นที่เมืองเชียงแสนมีถึง 32 พันนา และระบบพันนานี้น่าจะมีผลต่อการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ซึ่งพญามังรายได้สถาปนาขึ้นโดยเอาเมืองใหญ่หลายเมืองมาเป็นอาณาจักรเดียวกัน และเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ระดับล้านนา นั่นเอง
• สิบสองปันนาเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่ง ด้วยตั้งอยู่ตรงกลางที่ลุ่มหุบเขาริมแม่น้ำโขง ซึ่งชาวไทลื้อเรียกว่า แม่น้ำล้านช้าง ชาวจีน เรียกว่า แม่น้ำหลันช้าง หรือ หลันชาง หรือ หลันชางเจียง มีสภาพภูมิอากาศแบบป่าฝนเขตร้อน มีฝนตกชุก ไม่มีหิมะตก อากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ผืนดินจึงอุดมไปด้วยป่าไม้เขตร้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความเขียวขจีตลอดทั้งปี ในผืนป่าก็อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่าอย่างช้างและนกยูง ที่เป็นเสมือนสัตว์สัญลักษณ์ของสิบสองปันนา ซึ่งดินแดนอื่นในประเทศจีนอันกว้างใหญ่ไพศาลไม่มีสภาพความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ สิบสองปันนาจึงเป็นแหล่งปลูกข้าว อ้อย ยางพารา กาแฟ ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว ส่งขายไปยังเมืองอื่นๆ ในประเทศจีน สิบสองปันนาได้รับสมญานามว่าเป็นอาณาจักรแห่งต้นไม้ เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของมณฑลยูนหนาน และเป็นดินแดนหนึ่งที่รัฐบาลจีนภาคภูมิใจเพราะทำให้จีนได้ชื่อว่ามีผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล มีสภาพภูมิประเทศและผืนป่าครบ ตั้งแต่ดินแดนน้ำแข็งแบบขั้วโลกจนถึงป่าเขตร้อนเหมือนเช่นแถบเส้นศูนย์สูตรอย่างผืนป่าสิบสองปันนา
• สิบสองปันนาดำรงความมั่นคงเฟื่องฟูอยู่ราวร้อยกว่าปีก็ถูกรุกรานอีกครั้งโดยชาวจีนสมัยราชวงศ์มองโกล และตกอยู่ในการปกครองของจีนอีกครั้งในปี พ.ศ. 1835 โดยจีนได้แต่งตั้ง เจ้าแสนหวีฟ้า ขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงรุ่ง ซึ่งคำว่า แสนหวี นั้นมาจากภาษาจีนว่า ชวนเหว่ ซึ่งหมายถึงการโฆษณาปลอบโยน ตำแหน่งของเจ้าแสนหวีจึงหมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่เกลี้ยกล่อมปลอบโยนราษฎรในปกครองให้อยู่ในอำนาจของจักรพรรดิจีนนั่นเอง
• อย่างไรก็ตาม เมื่อสิบสองปันนาอ่อนแอลงและต้องตกอยู่ในปกครองของจีนแต่ศูนย์กลางแห่งอำนาจจีนก็อยู่ห่างไกล ในขณะที่อิทธิพลของพม่าและสยามในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นเมื่อราว 200 กว่าปีก่อน ก็แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับอาณาจักรสิบสองปันนาจึงจำเป็นต้องยอมอ่อนน้อมส่งเครื่องบรรณาการให้กับทั้งเจ้ากรุงจีน เจ้ากรุงศรีอยุธยา อันหมายถึงสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตโกสินทร์ และเจ้ากรุงอังวะแห่งพม่า สิบสองปันนาในยามนั้นจึงถูกเรียกว่าเป็นเมือง สามฝ่ายฟ้า คือตกอยู่ใต้อิทธิพลของชาติที่แข็งแกร่งกว่าถึง 3 อาณาจักรในเวลาเดียวกัน
• ในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั้น หลังจากที่พระองค์ในส่งทัพมาปลดปล่อยเชียงใหม่และอาณาจักรล้านนาจากอิทธิพลของพม่าแล้ว ได้โปรดให้พระเจ้ากาวิละเป็นแม่ทัพ ยกไปตีเมืองพน เมืองหย่วน เมืองล่า และกวาดต้อนชาวไทขึนจากเชียงตุง ชาวไทยใหญ่จากเมืองฉานในพม่า มาอยู่ที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และน่าน เป็นจำนวนมาก ซึ่งเรียกกันว่ายุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง อันเป็นวิธีการฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาวิธีหนึ่ง เพราะในช่วงที่พม่ายึดครองเชียงใหม่นั้น ก็ได้กวาดต้อนชาวเชียงใหม่และชาวล้านนาไปอยู่ที่พุกามและมัณฑเลย์จำนวนมากเช่นกัน
• อาณาจักรเชียงรุ่งถูกยื้อยุดฉุดดึงโดยอาณาจักรที่เข็มแข็งไปมาอยู่นาน กระทั่งยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคมในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ของไทย ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสที่มีอิทธิพลเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีกก็เข้ามาขีดเส้นแบ่งปันจัดสรรโดยอังกฤษยึดครองพม่า ให้สิบสองปันนาไปขึ้นอยู่กับจีน ให้เชียงตุงขึ้นอยู่กับพม่า และขีดเส้นให้ฝรั่งเศสมีอิทธิพลอยู่ในลาวและอินโดจีน
• สิบสองปันนายังคงมีกษัตริย์ปกครองอยู่ถึง 45 รัชกาล กระทั่ง เหมา เจ๋อ ตุง ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจีนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ในปี พ.ศ. 2492 และนำทหารเข้ายึดครองสิบสองปันนาในปี พ.ศ. 2493 ระบอบกษัตริย์ก็สิ้นสุดลง เชื้อพระวงศ์ต่างแตกกระสานกระเซ็นไปอยู่พม่าบ้าง สยามบ้าง เจ้าหม่อมคำลือ กษัตริย์องค์สุดท้ายต้องเปลี่ยนฐานะเป็นสามัญชนคนหนึ่ง โดยทางการจีนให้ทำงานอยู่ในสถาบันชนชาติส่วนน้อยแห่งมณฑลยูนหนาน พระราชวังเวียงผาคราง ริมฝั่งแม่น้ำโขงเมืองเชียงรุ่งของกษัตริย์ไทลื้อถูกเผาทำลายลงจนราบคาบ
• ในปี พ.ศ.2501 เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในจีน มีการทำลายล้างตำรา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ศาสนา วัดวาอาราม พระธรรมคัมภีร์ ตำราทางพระพุทธศาสนาในสิบสองปันนาถูกเผาทำลายลงเป็นจำนวนมาก การปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาถูกสั่งห้ามโดยเด็ดขาด พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทที่เคยรุ่งเรืองในเชียงรุ่งต้องหยุดลงและขาดช่วงไปในที่สุด วิถีวัฒนธรรมของชาวไทลื้อที่เต็มไปด้วยสีสันถูกเข้มงวดกวดขัน การปฏิบัติตนตามวิถีวัฒนธรรมถูกลบล้างลงไปกับการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างน่าเสียดาย
• แม้การปฏิวัติวัฒนธรรมของลัทธิคอมมิวนิสต์จะมีส่วนในการทำลายภูมิปัญญา ศาสนา และวัฒนธรรมของชาวไทลื้อไปมากน้อยเพียงใด แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไป ระบอบคอมมิวนิสต์เสื่อมคลายความเข้มงวดลง ศาสนาและวิถีวัฒนธรรมของชาวไทลื้อสิบสองปันนาก็กลับฟื้นคืนชีวิตอีกครั้ง สิบสองปันนาเปิดตัวให้กับโลกภายนอกอีกครั้ง คนไทยจากเมืองไทยได้รู้จักและไปมาหาสู่ชาวไทลื้อสิบสองปันนาที่เป็นเสมือนชนร่วมสายบรรพบุรุษอีกครั้ง แต่ช่วงเวลาแห่งความสวยงามเหล่านี้ยืนอยู่ได้ไม่นานนัก วัฒนธรรมของชาวไทลื้อสิบสองปันนาก็ต้องมาถูกทำลายอีกครั้ง ซึ่งเป็นการทำลายล้างอย่างหนักหน่วงกว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยระบอบคอมมิวนิสต์เสียอีก และเป็นการทำลายวัฒนธรรมของชาวไทลื้ออย่างถาวรอีกด้วย นั่นคือการถูกทำลายจากการพัฒนาในระบอบทุนนิยมนั่นเอง